ภาพกิจกรรม อปท.
โครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

จังหวัดสุโขทัยจัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

      วันพุธที่ 12 มีนาคม 2568 เวลา 09.15 น. ณ โรงแรมสุโขทัยเทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดสุโขทัย นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย มอบหมายให้ นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการนี้ นางผ่องพรรณ อุปละกูล ท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย ได้เข้าร่วมการอภิปราย ในหัวข้อ "ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เพื่อท้องถิ่นไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน" ทั้งนี้ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ประธานโครงการบรรเทาสาธารณภัยและจิตอาสา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายกอบชัย บุญอรณะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เชียงราย และน่าน นายพล เชื้อทหาร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุโขทัย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง/ปลัดอำเภอประจำตำบล และเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมในโครงการ

     กิจกรรมภายในโครงการประกอบด้วย การอภิปรายในหัวข้อ "ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เพื่อท้องถิ่นไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน" จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีนายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณภัย (ด้านสาธารณภัยและการพัฒนาเครือข่าย) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และในภาคบ่ายมีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ "เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" โดย วิทยากรจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุโขทัย

     โครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้ชุมชนเป็นกลไกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามแนวทางของ "หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM)" เพื่อสนับสนุนให้ชุมชน/หมู่บ้าน ซึ่งอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยผ่านกลไกคณะกรรมการชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชุมชน/หมู่บ้าน ให้บูรณาการร่วมกับการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น และแผนพัฒนาอำเภอ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป